คณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี เป็นคณะนักบวชหญิงสังกัดสังฆมณฑลจันทบุรี คณะถือกำเนิดมาอย่างเงียบๆ ด้วยความราบเรียบ เช่นเดียวกับการกำเนิดของสถาบันนักบวชทั่วๆไป     แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป กลุ่มผู้บุกเบิกและสมาชิกที่เพิ่มขึ้น ต่างได้เป็นประจักษ์พยานถึงการทรงนำของพระจิตเจ้าในการปฏิบัติภารกิจที่พระองค์ทรงประสงค์ และนำความรักความเมตตาของพระคริสตเจ้าไปสู่มนุษยชาติอย่างไม่หยุดหย่อน

ในประเทศไทยคณะรักกางเขนกลุ่มแรกได้รับการก่อตั้งขึ้นที่อยุธยา สำหรับคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี ได้ถือกำเนิดมาหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก ระหว่างสงครามไทยกับพม่า ในปี ค.ศ. 1767 เพื่อความชัดเจนและต่อเนื่องในประวัติของคณะ จึงขอเสนอเรื่องราว ความเป็นมาของคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี ดังนี้

 

 

1. พระสังฆราช ลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต ผู้ให้กำเนิดสถาบันรักกางเขน

พระสังฆราช ลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต เป็นธรรมทูตชาวฝรั่งเศสกลุ่มแรกที่กระทรวงเผยแพร่ศาสนา ส่งออกไปยังดินแดนตะวันออกไกลในกลางศตวรรษที่ 17 ท่านและเพื่อน     ธรรมทูต มีจุดมุ่งหมายในการทำงานที่ประเทศเวียดนามและประเทศจีน แต่ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศทั้งสอง ทำให้ท่านต้องตั้งศูนย์กลางการทำงานในอยุธยาแทน และเดินทางไปยังดินแดนที่ได้รับมอบหมายเมื่อโอกาสนั้นอำนวย

พระสังฆราชลัมแบรต์ เดินทางมาถึงอยุธยาในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ท่านสามารถเดินทางไปเวียดนามได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1669 และอยู่ที่นั่นถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 นี้เอง ท่านได้ตั้งคณะรักกางเขนสำหรับสตรีใจศรัทธาขึ้นเป็นแห่งแรกที่ตังเกี๋ย ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1671 ท่านเดินทางไปโคชินจีนดินแดนทางภาคใต้ของเวียดนาม และได้ตั้งคณะรักกางเขนขึ้นที่เมืองกวางงายเป็นกลุ่มที่สอง สำหรับในประเทศไทย ท่านตั้งกลุ่มสตรีรักกางเขนกลุ่มแรกที่ค่ายนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1672 สมาชิกรุ่นแรกของกลุ่มมี 5 คน เป็นชาวโคชินจีน (ญวณใต้) ทั้งหมด

 

2. การกำเนิดคณะรักกางเขนในจันทบุรี

ประวัติศาสตร์ของคณะรักกางเขนที่พระสังฆราชลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต ก่อกำเนิดขึ้นที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1672 ได้รับการบันทึกไว้ด้วยการดำเนินชีวิตของมวลสมาชิกเป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี จวบจนถึงปี ค.ศ. 1803 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีกำเนิดคณะรักกางเขนที่จันทบุรี เนื่องจากมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ในสมัยพระสังฆราชการ์โนลต์ (Garnault) ค.ศ. 1786-1811       อันตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) คุณพ่อฟลอรังส์ (Florens) เจ้าอาวาสวัดจันทบุรีในขณะนั้นได้เขียนรายงานในปี ค.ศ. 1803 ว่า “ในชุมชนคริสตัง (วันจันทบุรี) มีความหวังจะตั้งคณะหญิงสาวที่มีความเสียสละเพื่อทำกิจการดี” และในปีเดียวกันมีรายงานของพระสังฆราชการ์โนลต์ ในทำนองเสริมกันว่า “มีการรวบรวมหญิงสาวหลายคน” บันทึกเหล่านี้เป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า มีการเริ่มต้นคณะภคินีรักกางเขนที่จันทบุรี

ต่อมาในปี ค.ศ. 1806 พระสังฆราชการ์โนลต์ได้รายงานว่า “นักบวชหญิงพื้นเมืองนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าอาวาส เขาได้รับแต่งตั้งขึ้นเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่ตนเอง เพื่อสอนหญิงสาวเตรียมผู้สมัครเป็นคริสตังให้รับศีลล้างบาป เป็นผู้แปลคำสอนเขาดำเนินชีวิตร่วมกัน แต่ไม่มีการปฏิญาณตนอย่าสง่า”

ในปี ค.ศ. 1811 มีรายงานว่า พระสังฆราชการ์โนลต์ซึ่งเริ่มฟื้นจากการป่วยได้รับเชิญไปจันทบุรีเพื่อโปรดศีลกำลัง ในโอกาสนี้พระสังฆราชการ์โนลต์ ได้รับรองคณะภายใต้ชื่อว่า “คณะรักไม้กางเขน” และท่านได้เป็นประธานรับคำปฏิญาณของภคินีด้วย ท่านไปถึงจันทบุรี วันที่ 6   กุภาพันธ์ ค.ศ. 1811 และสิ้นชีวิตวันที่ 4 มีนาคม ปีเดียวกัน ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ท่านได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์ให้เป็นพระสังฆราชสืบต่อจากท่าน จากบัญชีของวัดในปีนี้มีภคินีถึงแก่กรรม 1 คน ชื่อ ภคินีอันนา

สมัยพระสังฆราชฟลอรังส์ (ค.ศ.1811-1834) ตรงกับรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้ าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. 1824-1851) เป็นช่วงที่มิสซังยากจนมาก เพราะไม่ได้รับปัจจัยช่วยเหลือจากภายนอกเลย อีกทั้งทางการยังห้ามคนต่างชาติออกจากกรุงเทพฯ ด้วย เพราะเป็นช่วงที่อังกฤษล่าอาณานิคม บรรดามิสชันนารีจึงถูกเพ่งเล็งมากไม่มีรายงานใดๆ เกี่ยว กับภคินี

 

 

3. วิวัฒนาการของคณะในยุคแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1834-1909

ในปี ค.ศ. 1834 สมัยพระสังฆราชกูรเวอซี (Courvezy  ค.ศ. 1843-1841) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ในจดหมายที่พระสังฆราชรายงานถึงผู้ใหญ่ที่ปารีส วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1834 ได้กล่าวถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอธิการิณีคนใหม่ และในจดหมายรายงานปีต่อมา ท่านได้รายงานเกี่ยวกับคณะภคินีมาโดยตลอด ในปี ค.ศ. 1839 คุณพ่อรังแฟง ได้รับแต่งตั้งให้เป็น       เจ้า อาวาสวัดจันทบุรีและวิญญาณรักษ์ของคณะภคินี ท่านได้จัดให้กลุ่มภคินีเล็กๆ นี้มีระเบียบมาก และช่วยให้ภคินีก้าวหน้าด้านชีวิตภายใน จำนวนสมาชิกในปี ค.ศ. 1839 มี 18 คน บางคนได้ทำปฏิญาณตนแล้ว ดำเนินชีวิตตามวินัยที่มิสซังโคชินไนรับรอง บรรดาภคินีสอนหญิงสาวโดยไม่คิดค่าเล่าเรียน และเลี้ยงชีพด้วยการงานของตนเอง ได้แก่ การทอเสื่อกกอย่างประณีตสวยงาม ทำกะปิ ทำสวนผลไม้ และมิสซังมีส่วนช่วยเหลือบรรดาภคินีบ้าง

 ในปี ค.ศ. 1854 สมัยพระสังฆราชปัลเลอกัว (Pallegoix ค.ศ. 1841-1862) ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 4 จากรายงานของพระสังฆราช ปี ค.ศ. 1842 มีภคินี 14 รูป ปี ค.ศ. 1843-1848 มีภคินี 12 รูป ภคินีเหล่านี้ทำการรื้อฟื้นการปฏิญาณตนอย่างสง่าทุก 3 ปี ไม่มีเขตพรต ในปี ค.ศ. 1848 พระสังฆราชได้ส่งเงินจำนวนหนึ่งให้คุณพ่อรังแฟง เจ้าอาวาสวัดจันทบุรีในขณะนั้น จัดสร้างอาราม ขึ้นใหม่ เนื่องจากอารามเดิมคับแคบ อีกทั้งยังได้มีการปรับปรุงฟื้นฟูกฎระเบียบวินัยของคณะเพื่อความเหมาะสมกับชีวิตนักบวชด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1852 พระสังฆราชปัลเลอกัว ได้รับรองกฎวินัยของคณะเป็นทางการ และได้เปลี่ยนชื่อคณะใหม่ว่า “ข้าปรนนิบัติของพระแม่เจ้า” เครื่องแบบของสมาชิกในขณะนั้นคล้ายชุดแต่งกายของสตรีชาวเวียดนาม เว้นแต่ตัดผมสั้น กางเกงขายาวสีดำ เสื้อแขนยาวสีดำ ตัวเสื้อยาวเลยเข่า ผ้าคลุมบ่าสีเทา และสวมรองเท้าแตะคีบ

ในปี ค.ศ. 1898 สมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ (ค.ศ. 1875-1909) ตรงกับรัชกาลที่ 5 ภคินียังอยู่ในการอบรมดูแลของเจ้าอาวาส เมื่อคุณพ่อกูอาส เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้จัดสร้างอารมขึ้นใหม่ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้นต่ำๆ ชั้นบนเป็นที่พัก ชั้นล่างเป็นที่ทำงาน (ภคินีใช้เรือนหลังนี้จนถึงปี ค.ศ. 1950) ต่อมาในปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อเปรีกัลป์ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างบ้านเด็กกำพร้าและให้ภคินีดูแล ท่านเอาใจใส่ภคินีดีมาก



4. ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ค.ศ. 1909-1944

สมัยพระสังฆราช แปร์รอส (ค.ศ. 1909-1947) เป็นช่วงเวลายาวนานถึง 4 รัชกาล คือ ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ถึง ต้นรัชกาลที่ 9 ในสมัยพระสังฆราช แปร์รอส มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของโลก และของประเทศไทย รวมทั้งพระศาสนจักรไทยหลายประการ คือ ปี ค.ศ. 1914-1918 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1  ปี ค.ศ. 1932 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย ปี ค.ศ. 1940-1945 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง ก็เกิดสงครามอินโดจีน ทำให้เกิดมรณสักขีแห่งบ้านสองคอน ซึ่งในจำนวนมรณสักขีทั้งเจ็ดนี้ก็มีภคินีรักกางเขน 2 ท่านคือ ภคินีอักแนส พิลา และภคินีลูซีอา คำบาง สังกัดคณะรักก างเขนแห่ง      เชียงหวาง  ในปัจจุบัน

 ในปี ค.ศ. 1912 พระสังฆราชได้รายงานถึงสมณกระทรวงว่า ที่จันทบุรีมีภคินี 50 รูป ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 พระวินัยฉบับที่ 2 ได้รับการรับรอง ภคินีทำการถวายศีลบนทุก 3 ปี

ภคินีสมัยนี้ ใช้ภาษาญวณ เพราะเกิดในแวดวงของชาวเวียดนาม ภคินีไม่มีความรู้ภาษาไทย จนถึงปี ค.ศ. 1937 พระสังฆราชจึงอนุญาตให้ส่งภคินีไปศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในโรงเรียนของรัฐบาล ขณะนั้นคุณพ่อซีมอนเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี

ปี ค.ศ. 1940 มีการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเสื้อชุดยาวสีดำ มีผ้าคลุมสีเดียวกัน แขวนสร้อยเงินห้อยกางเขน ภคินียังคงหาเลี้ยงชีพเองด้วยการทอเสื่อ ตกปู จับปลาขาย สีข้าวกินเอง อาหารการกินค่อนข้างอดยาก ทำงานหนักด้านหน้าที่การงาน ภคินีทำการสอนคำสอน ช่วยงานวัดและรักษาโรคด้วยสมุนไพร

 

5. ยุคพัฒนา ค.ศ. 1944-1971

ปี ค.ศ. 1944 พระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ได้รับการอภิเษกเป็นพ ระสังฆราชไทยองค์แรก ให้ดำรงตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลจันทบุรี ซึ่งแยกจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ท่านได้ปรับปรุงคณะให้เหมาะสมตามกาลสมัย ดังนี้ คือ

                       1. ปี ค.ศ. 1947 ย้ายนวกสถานจากจันทบุรีไปที่วัดเซนต์ปอล แปดริ้ว ทำให้มีผู้มาสมัครเป็นนักบวชมากขึ้น เนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกกว่า

                       2. ท่านได้ให้มีการก่อสร้างอารามฯขึ้นใหม่ เป็นตึกสูง 3 ชั้น ภา ยใต้การควบคุมดูแลของคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี อารามใหม่ได้ชื่อว่า “อารามแม่พระฟาติมา” ได้รับการเสกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1951 (ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว)

                       3. มีการปรับปรุงพระวินัยใหม่ เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้ วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1951

 

 

                      

การปรับปรุงพัฒนาคณะฯได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง      จนถึงสมัยพระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี (ค.ศ.1952-1969) ท่านได้ดำเนินการให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงดังนี้

                       1. ในปี ค.ศ. 1953 ท่านได้มอบหมายให้คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ สร้างวัดถาวรของคณะด้วยเงินของสังฆมณฑลฯ

                      2. ในปี ค.ศ. 1958 ย้ายนวกสถานจากแปดริ้วไปอยู่ที่วัดนักบุญฟิลิปและยาก็อบ หัวไผ่ ชลบุรี

                      3. จัดให้มีการปรับปรุงพระวินัยของคณะเป็นฉบับที่ 4 ให้ตรงกับสังคายนาวาติกันที่ 2 และดำเนินการให้คณะได้รับการรับรอง จากสมณกระทรวงนักบวชที่กรุงโรม   เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1963 และเปลี่ยนชื่อคณะเป็น “คณะธิดากางเขน ณ จันทบุรี” (ปัจจุบัน เปลี่ยนมาใช้ “คณะรักกางเขน แห่งจันทบุรี” ตามนามเดิมเมื่อแรกตั้งที่อยุธยา)

                       4. ท่านได้โอนโรงเรียนของวัด 3 แห่ง ให้คณะดำเนินการบริหาร เพื่อเป็นทุนเลี้ยงดูสมาชิกต่อไป โรงเรียนทั้งสามแห่งนั้น คือ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จันทบุรี โรงเรียนยอแซฟวิทยา ท่าใหม่ จันทบุรี และโรงเรียนมารีวิทยา ปราจีนบุรี

                       5. นอกจากนั้น ท่านยังได้ดูแลเอาใจใส่ให้สมาชิก ได้รับการศึกษาอบรมเพิ่มขึ้น ทั้งทางโลก และทางด้านชีวิตจิต ในการไปศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                      ในปี ค.ศ. 1971 พระสังฆราชฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ พระสังฆราชลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลจันทบุรีสืบต่อมา ท่าน ดูแลคณะอย่างใกล้ชิด และดำเนินการให้คณะได้รับการฟื้นฟูปรับปรุงอย่างต่อเนื่องดังนี้

                      1. ค.ศ. 1973 มีการปรับปรุงพระวินัยให้ตรงตามคำสอนของพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 มีการทดลองใช้พระวินัยฉบับนี้ ถึง ปี ค.ศ. 1980

                      2. ค.ศ. 1980 เปิดประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก  คณะฯเริ่มศึกษาประวัติและจิตตารมณ์ของพระสังฆราชลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต ผู้สถาปนาคณะ

                       3. ค.ศ. 1982 ให้มีการยกร่างพระวินัยฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ 6 ซึ่งได้รับการรับรองจากสมณกระทรวง ในปี ค.ศ. 1986 และใช้พระวินัยฉบับนี้จนถึง ปี ค.ศ. 2000

                       4. ค.ศ. 2000 ในสมัยสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 8 ได้มีการยกร่างพระวินัยใหม่เป็นฉบับที่ 7 เปลี่ยนจากคำว่า “พระวินัย” เป็น “พระธรรมนูญ” เป็นพระธรรมนูญที่ยึดถือจิตตารมณ์ของพระสังฆราชลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต อย่างสมบูรณ์ และใช้ร่วมกันในคณะรักกางเขนทุกแห่งทั้งในประเทศเวียดนามและประเทศไทยและลาว

ในปี “ปีติมหาการุณ” ได้มีการสร้างศูนย์อบรบรักกางเขนที่ศรีราชา ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสมทางด้านการคมนาคม การแพร่ธรรม และงานอบรม ศูนย์อบรมประกอบด้วย บ้าน    สันตะมารีย์ เป็นศูนย์รวมของยุวภคินี บ้านเบธานี เป็นบ้านอบรมผู้สนใจขั้นเข้มข้น (จบชั้น ม. 6) บ้านลัมแบรต์ปีติมหาการุณ เป็นบ้านอบรมผู้ที่กำลังศึกษาในชั้น ม.4 -ม.6 และนวกสถาน บ้านอบรมของนวกเณรี



6. การอบรมในคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี

พระสังฆราชลัมแบรต์ ได้สอนสมาชิกตั้งแต่แรกเริ่ม ให้ดำรงชีวิตตามคำสอนของนักบุญเปาโลเหมือนดังว่า เขาทำทุกสิ่งต่อจากพระเยซูเจ้า “ส่วนการทนทุกข์ของพระคริสต์ที่ยังขาดอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็รับทนจนสำเร็จในเนื้อหนังของข้าพเจ้า เพราะเห็นแก่พระกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร” (คส:24) ท่านยังเตือนพวกเขาให้อบรมสั่งสอนผู้ที่เตรียมตัวเป็นนักบวชด้วยความรักและเอาใจใส่มากๆ ด้วย

สมาชิกดำเนินชีวิตฝ่ายจิต ตามแนวทางที่พระสังฆราชลัมแบรต์วางไว้ให้ตลอดมา จนถึงช่วงเวลากรุงศรีอยุธยาแตก หลังจากนั้นเมื่อมีการตั้งกลุ่มคณะรักกางเขนขึ้นใหม่ที่จันทบุรี สมาชิกก็ได้รับการอบรมชีวิตฝ่ายจิตจากบรรดาพระสงฆ์เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ซึ่งไม่ใช่นักบวชและอาจไม่ทราบชัดเจน ถึงจิตตารมณ์ที่พระสังฆราชลัมแบรต์ ได้สอนบรรดาสมาชิกตั้งแต่แรกเริ่ม ถึงกระนั้น ก็ยังมีจิตตารมณ์ดั้งเดิมของคณะที่ส่งผ่านต่อมาถึงสมาชิกปัจจุบันอยู่มาก โดยเฉพาะในความศรัทธาพิเศษต่อพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึง เนื่องจากบรรดาภคินีรุ่นพี่ๆ ได้รับ       จิตตารมณ์ซึมซับอย่างลึกซึ้ง และปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จนเป็นประเพณีตกทอดมาถึงภคินีรุ่นน้อง

สังคายนาสากลวาติกันครั้งที่ 2 มีคำแนะนำให้นักบวชศึกษาประวัติชีวิตดั้งเดิมของคณะ และฟื้นฟูจิตตารมณ์เดิม ในขณะเดียวกัน ก็ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในปัจจุบันด้วย ในช่วงนี้คณะก็ได้ปรับปรุงและฟื้นฟูชีวิตของคณะในทุกด้าน โดยเน้นด้านชีวิตนักบวชเป็นหลักสำคัญเสมอ การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพี่น้องคณะนักบวชด้วยกันในประเทศไทยทั้งหญิงและชาย เป็นพลังเสริมชีวิตนักบวชของคณะให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแน่วแน่และถูกต้องยิ่งขึ้นด้วย

สมาชิกคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี ยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ โดยการนำชีวิตภายใต้การนำของพระจิตเจ้า และด้วยดวงใจอันเปี่ยมล้นในความรักต่อพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน ด้วยความสำนึกในพระคุณเหลือคณนาของพระเจ้าที่มีต่อคณะ และมั่นใจในความค้ำจุนของพระองค์ สมาชิกจะก้าวต่อไปในหนทางชีวิตของคณะโดยไม่หวั่นเกรงต่ออุปสรรคต่างๆ ที่อาจพานพบ โดยถือตามคำสั่งสอนของนักบุญเปาโลที่สอนให้ทำงานของพระเจ้าเต็มกำลังโดยไม่ต้องหวังผลสำเร็จ เมื่อท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดน้ำ เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกและคนที่รดน้ำไม่สำคัญอะไร แต่พระเจ้าผู้ทรงโปรดให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ” (1 คร 3:6-7)