มุมมองต่อเยาวชนในยุคปัจจุบัน- ภารกิจหน้าที่และการปฏิบัติต่อเยาวชนในภาระงานของซิสเตอร์

มุมมองของซิสเตอร์ต่อเยาวชนในยุคปัจจุบัน  “เยาวชน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  หมายถึง บุคคลอายุเกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์

ส่วนองค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายสากลว่า “เยาวชน” หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือผู้มีอายุระหว่าง ๑๕-๒๕ ปี ซึ่งวัยนี้จะเรียกว่าช่วง “วัยรุ่น” ก็คงจะไม่ผิดเป็นวัยที่สังคมคาดหวังให้เป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่อนาคตข้างหน้า ดังนั้น พฤติกรรมของเยาวชนจึงมักถูกกำหนดแนวทาง หรือล้อมกรอบให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้ใหญ่ประสงค์

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยวัย และวุฒิภาวะที่เป็นธรรมชาติของวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัย ก็มักจะเกิดการต่อต้าน ขัดขืน หรือทำในสิ่งตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆสอนหรือบอก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันจะก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆในสังคมจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปปัญหาต่างๆจึงไม่ค่อยรุนแรงมากนัก  ผิดกับปัจจุบันที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ทำให้สังคม ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนยากที่จะต้านทาน หรือห้ามเยาวชน ไม่ให้ไหลไปตามกระแสของยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีทั้งผลดีและผลเสีย   

 

 

ปัญหา อุปสรรคที่พบ วิธีการแก้ไข

ปัจจุบันเราพบปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นผลมาจากสังคมบริโภคนิยมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งจากการที่ได้ศึกษาโครงการวิจัยเรื่อง "เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม" ของดร.อมรวิชช์             นาครทรรพ ผอ.โครงการจัดตั้งสถาบันรามจิตติ  ซึ่งได้สรุปถึงเด็กไทยในมิติต่างๆ 5 เรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ในมิติศาสนาและครอบครัว ซึ่งพบว่าสถานการณ์ครอบครัวไทยในปัจจุบันอ่อนแอจนน่าวิตก ในขณะที่การจดทะเบียนสมรสมีน้อยลงแต่อัตราการหย่าร้างกลับสูงขึ้น

นอกจากนั้นการที่ครอบครัวต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้พ่อแม่ห่างเหินกับลูก และวัยรุ่นโดยเฉลี่ยใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง และยังห่างเหินจากสถาบันศาสนามากขึ้นด้วย จากการสำรวจพบว่าวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยไม่เคยไปวัดเลยในรอบ ๑ เดือน ไม่ค่อยได้ทำบุญตักบาตร แต่กลับเลือกที่จะไปใช้ชีวิตตามห้างสรรพสินค้า  ดูหนัง คุยโทรศัพท์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ตเพื่อพูดคุยหรือเพื่อความบันเทิงมากกว่า ส่วนมิติของการบริโภค  ก็พบว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญกับกระแส "วัฒนธรรมกิน ดื่ม  ช้อป"  เด็กวัยรุ่นถูกดึงดูดจากโฆษณาให้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย นิยมแฟชั่นราคาแพงหรือของมียี่ห้อ อาทิ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา น้ำหอม กระเป๋าถือ เป็นต้น

รวมถึงการนิยมบริโภคของมึนเมาต่างๆก็มีอัตราที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุ ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ในมิติด้านสื่อและการแสดงออกทางเพศ  ก็พบว่านับวันจะรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุโดยเฉลี่ยจะน้อยลงเป็นลำดับ ขณะเดียวกันยังมีค่านิยมการมีคู่นอนมากกว่าหนึ่งมากขึ้น อีกทั้งปัญหาอาชญากรรมทางเพศของวัยรุ่นก็ดูจะสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขืน การใช้พื้นที่สาธารณะในการพลอดรักมากขึ้น

เมื่อดูจากผลการวิจัยแล้วก็ดูจะหนักหนาสาหัส ยากที่จะเยียวยา แต่อย่างไรก็ดี "เยาวชน" ก็ยังเป็นความหวังและทรัพยากรบุคคลที่มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาประเทศชาติ และที่สำคัญพวกเขาเป็นทรัพยากรที่สำคัญของพระศาสนจักร ในที่ที่ซิสเตอร์ประจำการอยู่ ก็พบปัญหาเหมือนกับที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของมิติทางศาสนาและครอบครัว  เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ครอบครัวในชุมชนน่าเป็นห่วง  เพราะการที่ครอบครัวต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้พ่อแม่ห่างเหินกับลูก และห่างเหินจากการไปร่วมพิธีทางศาสนาที่วัดด้วย จึงไม่เป็นการแปลกที่เยาวชนจะห่างเหินจากวัด เพราะพวกเขาไม่มีแบบอย่างในเรื่องของการปฏิบัติกิจทางศาสนา นอกจากไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว พวกเขายังได้เลือกที่จะไปใช้ชีวิตตามห้างสรรพสินค้า ดูหนัง คุยโทรศัพท์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ตเพื่อพูดคุยหรือเพื่อความบันเทิงมากกว่าการไปวัดวันอาทิตย์

ดังนั้นปัญหาและอุปสรรคที่ซิสเตอร์มองก็คือ ครอบครัว ตัวเยาวชนเอง สื่อ และค่านิยมกิน ดื่ม  ช้อป ที่ถาโถมเข้าใส่เยาวชนโดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสตั้งหลัก หรือมีโอกาสได้มีโอกาสพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ขาดการชี้แนะที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่ วิธีการแก้ไขคงไม่ใช่ที่จะแก้ที่ตัวเยาวชนเพียงอย่างเดียวแต่คงต้องช่วยกันแก้ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องสื่อและเทคโนโลยี ที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ให้มากขึ้น

ในฐานะที่ซิสเตอร์อยู่ในสถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา ก็จะทำบทบาทหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ด้วยการพยายามทุกวิถีทางที่จะปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามให้แก่เด็กและเยาวชน สร้างภูมิคุ้มกันในชีวิตให้เข้มแข็ง ทำให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญต่อการปฏิบัติกิจทางศาสนา การให้ศาสนาเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจเลือกวิถีทางในการดำเนินชีวิต ทำให้พวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานของศาสนามากยิ่งขึ้น ให้พวกเขาได้มีโอกาสได้เรียนรู้จักพระเยซูเจ้าให้มากขึ้น ดังที่มีคำเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า "จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป  และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาจะไม่พรากจากทางนั้น"

การนำคุณค่าพระวรสาร  ลงสู่งานอภิบาลเยาวชน

คุณค่าความรัก เป็นสิ่งที่สำคัญในการอภิบาลเยาวชน เพราะซิสเตอร์ต้องมองพวกเขาให้เป็น  พระเยซูเจ้าที่ถูกตรึงกางเขนให้ได้แล้วเราจะเข้าใจ จะให้อภัย จะเมตตา จะให้เกียรติ เคารพศักดิ์ศรีในความเป็นลูกของพระเป็นเจ้า และที่สุดเราก็จะพยายามทุกวิถีทาง ที่จะนำเขากลับมาหาพระมาอยู่ในบ้านในครอบครัวของพระองค์

เราจะคิดถึงภาพที่พระเยซูเจ้าทรงออกไปตามหาลูกแกะที่หายไป และเมื่อเจอแล้วพระองค์ก็นำแกะตัวนั้นแบกใส่บ่าพากลับบ้าน ถ้าอ่อนแอก็ดูแลบำรุงให้แข็งแรง ถ้าบาดเจ็บก็จะดูแลทำแผลพันผ้าให้ คือเราต้องดูแบบอย่างความรัก ความใจดีของพระเยซูเจ้าให้มากๆและดำเนินชีวิตตามอย่างพระองค์ให้ได้

และดังนี้แล้วงานอภิบาลเยาวชนจะไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะทำ แต่จะเป็นงานที่ท้าทายที่เราจะต้องพยายามฟันฝ่าอุปสรรคให้ได้ การอ่านพระคัมภีร์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เรารู้จักพระเยซูเจ้าและเห็นแบบอย่างความรักของพระองค์ และนำมาเป็นชีวิตของเรา

 

ความตั้งใจต่อภารกิจสำคัญที่ได้รับนี้

ภารกิจในการดูแลเยาวชนเป็นพันธกิจหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งที่พระคุณเจ้าลัมแบรต์ เดอ ลาม็อต ได้ฝากฝังให้ลูกๆของท่าน (ซิสเตอร์คณะรักกางเขน) ได้ดำเนินงานสานต่อจากท่าน

ซิสเตอร์ตระหนักถึงความสำคัญในภารกิจนี้และพยายามอย่างยิ่งที่จะสานต่องานของพ่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูแล้วยากมากเพราะการจะเข้าไปนั่งอยู่ในใจของเยาวชน เป็นเพื่อนของพวกเขาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายเรา เพราะเราต้องสู้กับสื่อ เทคโนโลยี ค่านิยมการบริโภค ความสะดวกสบาย แต่ก็จะบอกตนเองว่าความรักต่อพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนจะช่วยให้เราได้ฟันฝ่าอุปสรรค หรือสิ่งที่ท้าทายได้ แต่ที่สำคัญเราต้องรักพวกเขาอย่างจริงใจมองพวกเขาให้เป็นพระเยซูเจ้าที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนให้ได้ แล้วเราจะเข้าใจและรักพวกเขาได้ไม่ยากแม้บางครั้งจะรู้สึกว่าพวกเขาไม่น่ารัก(ในสายตามนุษย์อย่างเรา) เช่น การพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ ขาดความนอบน้อมเชื่อฟัง ไม่รู้กาลเทศะ แต่งกายไม่เหมาะสม หรืออื่นๆ นั่นก็เพราะเรารักพวกเขาอย่างมีเงื่อนไข แต่สำหรับพระเยซูเจ้าพระองค์รักอย่างไม่มีเงื่อนไข พระองค์จึงเป็นขวัญใจของคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะสตรี และเด็ก

นอกจากนี้การดำเนินชีวิตเป็น แบบอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นศิษย์ของพระเยซู ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเยาวชนต้องการแบบอย่าง และบางทีการเป็นแบบอย่างที่ดี อาจจะได้ผลดีกว่าการพร่ำสอนก็ได้

 

- กลับสู่ ปลายปากกา..สมาชิก -