|
เมื่อมีหลายคนมาถามว่า “ซิสเตอร์ทำงานด้านสตรี ซิสเตอร์ทำอะไรบ้าง” คำถามนี้ ทำให้ตัวฉันต้องฉุกคิด เพราะมีความคิด ความรู้สึกมากมายอยู่ภายในจิตใจ ที่ปรารถนาจะตอบ และตอบ...ด้วยหัวใจของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เป็นลูกสาวคนโตในครอบครัวทางบ้าน ได้มาเจริญชีวิตเป็นนักบวชหญิงพื้นเมือง และได้มาเป็นลูกสาวของท่านพ่อลัมแบรต์ฯ ในคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี ถ้าจะตอบว่า...ทำอะไรบ้างเพื่อสตรี (คนอื่น) หรือผู้หญิงคนอื่นๆ ในบทบาทที่ทำงานด้านสตรี คำตอบก็มีไม่มากอะไรนัก เช่น มีโครงการ กิจกรรม และงานไม่กี่รายการต่อปี เพราะตนเองซึ้งใจกับคำพูดเปรียบเทียบ มันเป็นจริงอย่างยิ่งที่ว่า “ฝ่ามือเดียว หรือจะอุ้มน้ำทั้งมหาสมุทร” แต่ถ้าเป็นลูกผู้หญิงคนหนึ่ง เพื่อลูกผู้หญิงคนอื่น หลายๆ คนแล้ว กล้าตอบได้ไม่อายใครว่า เคยเสียน้ำตาหลายครั้งอย่างเงียบๆ ที่เห็น ได้ยินข่าวคราว ลูกผู้หญิงมากมาย หลายชาติ หลายศาสนา หลายกลุ่ม หลายคน ที่ถูกทำร้าย ถูกกดขี่ ตัวเองจะเกิดความเศร้าใจที่เพื่อนหญิงถูกรังแก บางครั้ง เจ็บลึกๆ เมื่อเห็น ครู - นักเรียนในโรงเรียน ฆราวาสในวัด พนักงานในโรงอาหาร ผู้คนในสังคม ดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยถูกต้อง ผิดศีลธรรม ใช้กำลังกัน ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรง ครอบครัวแตกสลาย สามีภรรยาไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งบ่อยๆ ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เสียหาย ลูกหลานตกที่นั่งลำบาก เด็กๆ หลายๆ คน ต้องอยู่อาศัยกับเครือญาติแทนการอยู่กับพ่อแม่ ครอบครัวไม่มีความสุข ไม่พบความอบอุ่น สังคมบ้านเราในปัจจุบัน ความรักเมตตา ความเห็นอกเห็นใจกันเริ่มน้อยลงและน้อยลง อาจจะกลายเป็นภาวะขาดแคลนก็ได้กระมัง..... |
---|
หลายครั้ง หลายหน สะท้อนใจที่เห็นเยาวชนหญิงและชาย ดูเหมือนจะสนุกสนาน พึงพอใจกับสิ่งของนอกกายที่อำนวยความสะดวก ทันสมัย มีราคาสูง มียี่ห้อดัง แต่อาจขาดโอกาสที่จะค้นพบความสุข สันติ ความเรียบง่าย ธรรมชาติ ที่ให้คุณค่ามากกว่า ด้านจิตใจ ด้านคุณธรรม หรือด้านศาสนา ขณะเดียวกัน ตนเองรู้สึกสนใจ มีความภาคภูมิใจ แอบให้กำลังใจ ยามที่เห็นกลุ่มคน องค์กร หน่วยงาน สถานศึกษา หรือนักบวชไม่ว่าคณะหญิงหรือชาย ทำงานเพื่อผู้หญิงและเด็ก ในมิติต่างๆ ตัวเองไม่ใช่นักภาวนา แต่เมื่อภาวนาเงียบๆ หรือนำสวด มักจะแจ้งจุดประสงค์ ความปรารถนา ถวายคำภาวนาเพื่อคนตกทุกข์ได้ยาก คนป่วย คนชรา ผู้ต้องขัง คนพิการ เด็กกำพร้า หญิงหม้าย คนตกงาน คนเดินทาง คนที่ขอให้ซิสเตอร์สวดให้
|
---|
สำหรับซิสเตอร์แล้ว อยากจะบอกว่า ... การทำงานด้านสตรี ขอเป็นบุคคลที่คุ้นเคยกับการมีใจรัก-เมตตา-กรุณา เพื่อนสตรี เพื่อนผู้หญิง รู้สึกกับลูกผู้หญิงคนอื่นเสมือนพวกเธอเป็นญาติของตน เดือดเนื้อร้อนใจไปกับพวกเขา วางตัวให้เป็นมโนธรรมของสังคมเมื่อมีเหตุมาถึง มีใจพร้อมที่จะรับฟังเมื่อมีฆราวาสหญิงสักคนอยากนั่งคุย เพราะเห็นว่าฉันเป็น ซิสเตอร์ ดูแล อบรมหรือสั่งสอนผู้อื่น...เมื่อสบโอกาสเหมาะ และที่สุด ตัวฉันจะอยู่ที่ไหน มีหน้าที่อะไร พยายามบอกกับตัวเองเสมอว่า จะพูด / จะกล่าว / จะเขียนอะไรกับใคร หรือเพื่อใคร ฉันคือลูกผู้หญิง ฉันเป็นซิสเตอร์ เป็นลูกท่านพ่อลัมแบรต์ ที่ขานรับในการสืบสานงานอภิบาล-แพร่ธรรม เพราะท่านพ่อลัมแบรต์ฝากงานสตรีและเด็กไว้กับลูกสาวของท่าน |
---|