..ตอนตัดสินใจจะลาออกจากโออิชิ รู้ไหมครับผมคิดอะไร ?  จากคนที่เคยเริ่มตันจากติดลบ  สามารถมีวันนี้ได้ ไม่ว่าจะความสำเร็จหรือฐานะทรัพย์สิน  ทุกอย่างเกินกว่าที่ผมฝันไว้แล้ว

คงไม่กล้าบอกว่าตนเองรวยแล้ว เพียงแต่รู้สึกว่า “เพียงพอ” บางช่วงบางตอนคนเรามักสนุกกับการทำงาน จนลืมใช้ชีวิต ..หันกลับมาอีกที..ตัวเลข กลับไม่ได้ทำให้ผมมีความสุขเหมือนเดิม  จากที่เคยสนุกกับการแข่งขัน มีเป้าหมายผลประกอบการและกำไรไว้ให้พุ่งชน

ถึงจุดหนึ่งสอนให้ผมรู้จักกับคำว่า “พอ”  เงินไม่ใช่สิ่งที่ผมโหยหิว  กำไรสูงสุดไม่ใช่สิ่งที่ผมบูชา ผมได้เรียนรู้ถ่องแท้ถึงคุณค่าใหม่ของชีวิตที่มีความหมายไปกว่านั้น  นั่นคือจุดหักเหครั้งสำคัญ ก้าวผ่านชีวิตอีกขั้น หลังจากการขายหุ้น

อะไรคือสุขที่แท้ อะไรคือความหมายของชีวิตที่มีคุณค่าสำหรับผมและครอบครัว จะทำอะไร ทำเพื่ออะไร จะทำไปทำไม แล้วจะทำอีกเหรอ?  ผมถามซ้ำๆกับตัวเอง

คำถามคือลาออกแล้วชีวิตจะเอาอย่างไรต่อไป?  ยังเร็วเกินไปที่จะเกษียณตัวเองไปพักผ่อนในวัย 52 ในขณะที่มีความพร้อมทุกอย่างมากมายในมือ  ทั้งทุน ชื่อเสียง ประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมงานที่ดี  ผมยังมีลูกน้องหลายคนที่เคยร่วมทุกข์สุข บรรดาคู่ค้าที่กอดคอ..ทำธุรกิจร่วมกันมา ผมยังสนุก..ท้าทายกับการคิดอะไรใหม่ๆ นอกกรอบ

มากไปกว่านั้น คือ จิตวิญญาณและความรักของผมในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

 

ผมขายหุ้น...ไม่ได้ขายชีวิต จะถือหุ้นใหญ่ หรือหุ้นเล็ก จิตวิญญาณความเป็นเจ้าของสำหรับผมไม่ต่างกัน หลังขายหุ้น 55% ให้กับกลุ่มเบียร์ช้างเมื่อ 6 ปีก่อน ตามสัญญาต้องช่วยบริหารงาน 3 ปี แต่ผมบริหารต่อมาถึง 5 ปี ทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นโออิชิทั้งรายใหญ่และรายย่อยทุกคนเพิ่มขึ้นทุกปี บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า และมีมูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ผมมั่นใจว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์มาตลอด 5 ปี ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย จนกระทั่งถึงวันที่ตัดสินใจลาออก

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นวิชาชีพของผม เป็นภูมิปัญญา เป็นงานที่ผมรัก

เมื่อจะบุกเบิกธุรกิจใหม่อีกครั้ง ผมอยากทำธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งแต่เงินๆๆ.. และกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง  แต่เป็นธุรกิจเพื่อ "ภารกิจความสุข" ที่ต้องดูแลสังคมด้วย นั่นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมหวนกลับมาทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอีกครั้ง พร้อมจุดเริ่มต้นของ "อิชิตัน ออร์แกนนิค กรีนที"  เครื่องดื่ม ดับเบิ้ลดริ้งค์  โดยเงินปันผล 50% จากหุ้นที่ถืออยู่ จะมอบให้กับมูลนิธิตันปันตั้งแต่ปีแรก นับจากนั้นเมื่อผมอายุ 60 ปี จะเพิ่มสัดส่วนเงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 90% ให้ตลอดไป เพื่อใช้เป็นศุนย์รวมเล็กๆ ของการแบ่งปันสู่สังคมด้าน การศึกษา และ สิ่งแวดล้อม

ความสุขไม่ได้แปลว่า เราต้องมีทรัพย์สิน ไม่ได้แปลว่าต้องบริโภค ต้องสะสมความมั่งมี บางคนอาจเข้าใจว่ามีเงินแล้วมีความสุข จริงๆแล้ว เงินเป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานขั้นต้น มากไปกว่านั้นเงินแทบจะไม่มีความหมาย

ความสุขจึงไม่ได้เป็นสิ่งผูกขาดสำหรับคนรวย คนเราสามารถมีความสุขได้หลายอย่าง  สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุข ในช่วงหลัง คือ การได้ช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายถ่ายทอดประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ หรือการจัดกิจกรรมช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน

การได้เห็น "รอยยิ้ม"  ของคนที่ "ได้รับ" เป็นความสุขใจอย่างหนึ่งของผม เวลาที่เหลือนับจากนี้ ผมมุ่งมั่นที่จะสร้างบริษัทอิชิตัน ให้เป็นธุรกิจเพื่อภารกิจของมูลนิธิตันปัน และ เป้าหมาย ของผมนับจากนี้ ไม่ใช่ "การได้รับ" แต่เป็น "การให้"

ผมเชื่อเสมอว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เราเลือกที่จะ "เป็น" ได้ และวันนี้ผมเลือกแล้ว

ขอขอบคุณ..หนังสือ วิถีไม่ตัน (ตัน อิชิตัน)

 

- กลับสู่..สรรหา มาให้ "สุข" -